วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2559

มาเจอเพื่อนๆ(พี่ๆ)ร่วมหลักสูตรการจัดการนวัตกรรมสําหรับผู้ประกอบการ รุ่นที่ 14 ครั้งแรก


ตามที่พี่ป๋อคนสวยจาก สนช ได้มอบหมายให้เขียนบล็อกบันทึกเรื่องราวการอบรมที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ตั้งแต่งานครั้งก่อน ครั้งนี้ก็ไม่พลาดเช่นเคย กับการอบรมเสริมหลักสูตรครั้งแรก หลังจากเข้าถํ้าศึกษา ตาม timeline คือเรียนขึ้นบทที่ 4 แต่ด้วยความที่ไปงานแหกเมืองกับป้ายุพิน และสะสางงานต่างๆ เลยเรียนช้าไปเลย

ดังนั้นเข้าเรื่องเลยแล้วกัน ตอนต้นได้บ่นยาวไปมาก ก่อนหน้านี้เราเขียนวิธีการสมัครและเอกสารการเรียนคร่าวๆไปแล้ว ในตารางการเรียน นอกจากจะเรียนเองตามกำหนดการที่เขาได้เขียนไว้ ก็มีกิจกรรมเสริมหลักสูตร 1 ครั้ง เหมือนเป็นการสอนเสริม และได้พบปะเพื่อนๆร่วมรุ่นที่เรียนกัน (จากการสำรวจในกรุ๊ปไลน์ เป็นพี่ๆกว่าเรามากกว่า เรียกได้ว่าเป็นเพื่อนต่างวัยเลยทีเดียว ยกเว้นน้องอะตอมที่เป็นน้องเราสักปีนึง เจอกันที่งานเถ้าแก่น้อยปี 4 ขอพี่พาดพุงหน่อยละกันนะ ฮี่ๆ) ทางพี่ป๋อได้ส่งกำหนดการและเอกสารประกอบการเรียนอย่างครบครันมากๆ ทั้งแบบฟอร์มเขียนร่างข้อเสนอโครงการ สไลด์ประกอบการอบรม เรื่อง NPD และ business model canvas template การนำเสนอโครงการ และไฟล์ excel คำนวณเรื่องการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่วุ่นวายสุดๆ พร้อมทั้งลิ้งค์ลงทะเบียนในการเข้าร่วมงาน และเราก็ต้องเตรียมตัวในการเรียนเสริม พร้อมทั้งเตรียมคำถามไปถามเกี่ยวกับโปรเจกที่จะร่างข้อเสนอส่ง
กิจกรรมเสริมหลักสูตรการศึกษาทางไกล หลักสูตรการจัดการนวัตกรรมสําหรับผู้ประกอบการ รุ่นที่ 14 จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เวลาเก้าโมงเข้าถึงสามโมงเย็น (เวลาเลิกคิดว่าน่าจะมีเลท เพราะมีเรื่องถามอาจารย์ที่ปรึกษารวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นกันเยอะ ปกติเจอกันแต่ในไลน์กลุ่มไง วันนั้นจะได้เจอตัวจริงหล่ะ) ที่ห้องประชุมชั้น M อาคารใหม่ สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ


การเดินทาง แบบรวดรัดกระชับตัดตอน นั่งรถเมล์หรือบีทีเอส มาลงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อันนี้ pokestop มากมาย เอ้ยยยยหยุดก่อนๆ อย่าเพิ่งจับโปเกม่อน หรือลงรถเมล์ที่เซ็นจูรี่ก็ได้นะ ฝั่งตรงข้ามพอดี พอถึงแล้วเดินมาที่ซอยโยธี เรียกพี่วินหน้าปากซอย บอกว่าไป NIA แปปนึงถึง (อย่าริเดินเชียว ใช้เวลาสิบนาทีกว่า เหนื่อยด้วย) ราคาค่ารถ 10 บาท ในเวลาไม่ถึงสามนาที พี่วินแกจะจอดหน้าตึกเลย ตึกกระจกสวยๆข้างหน้านั่นแหละ เขาเรียกว่าอาคารอุทยานนวัตกรรม ที่เพิ่งมาถ่ายรายการ ไอที 24 ชั่วโมง นั่นแหละ เดินขึ้นบันไดไปชั้นนึง มีโต๊ะลงทะเบียนด้านหน้า ได้เอกสารมาเยอะแยะเลย ทั้งคำชี้แจงเกี่ยวกับการสอบประเมินผล ใบปลิวโครงการคูอองนวัตกรรม และโครงการพัฒนางานวิจัยสู่นวัตกรรม หนังสือ BrandAge Essential และ annual repo 2015 ของ NIA เวลาลงทะเบียนเริ่มตั้งแต่เก้าโมงถึงเก้าโมงครึ่งเลยจ้า มีน้องๆร่วมรุ่นจากวังมะนาวช่วยรับเพื่อน (จริงๆควรเรียกรับพี่นะ น้องแต่งนักศึกษามา) ในการลงทะเบียน

เอกสารที่แจกมา
ห้องเรียนเดียวกับตอน software dee เลย แต่แอร์ไม่หนาวแล้ว ดีใจ
น้องๆจากวังมะนาว ภาพโดยพี่ป๋อคะ
น้องๆจากวังมะนาว ภาพโดยพี่ป๋อคะ
ระหว่างรอเวลา 9:30 แต่ละคนก็คุยธุรกิจกัน เราก็แอบเขียนบล็อกด้วยแหละ ถึงบ้านจะได้เหนื่อยน้อยหน่อยงี้ พอถึงเวลา 9:30 ก็ได้เวลา ......... เบรกเช้าคะ พี่ป๋อบอกให้พวกเราไปทานเบรกเช้าคะ เบรกเช้ามีแซนด์วิชแฮมชีสแสนอร่อย พร้อมมาการองช็อคโกแลตและวานิลลา ซึ่งวานิลลาหวานมาก ช็อคโกแลตกำลังดี เครื่องดื่ม มีนํ้าเปล่า เครื่องดื่มสมุนไพร กาแฟ เราทานโกโก้ หวานจัดเลย

ขอบคุณพี่ๆทีมงานอาหารคุณภาพนะคะ
เบรกเช้า เครื่องดื่ม ครัวซองแฮมชีส มาการอง
ทานอาหารว่างพร้อมการพูดคุยอย่างมีอรรถรส
จากนั้น เมื่อหมดเวลาพักเบรก ก็ถึงเวลากล่าวตอนรับโดยคุณกนต ทีมงานของ NIA
- เราเรียนหลักสูตรนี้เพื่ออะไร เราเรียนเพื่อสร้างนวัตกรรม
- NIA คือหน่วยงานภาครัฐ ในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์ สนับสนุนผู้ประกอบการโดยให้เงินให้เปล่า ให้เราไปเลย ไม่ตามทวงคืน มีหลายๆโครงการ แต่ละโครงการวงเงินไม่เท่ากัน ให้เงิน 5 ล้านเพื่อสร้าง prototype
- คิดนอกกรอบ เพิ่ม value และการตลาด work โครงการนวัตกรรมจึงจะสำเร็จ
- ระดับความใหม่ของโครงการ ที่ NIA สนับสนุน คือ
1. โครงการนวัตกรรมใหม่ระดับประเทศ เราสามารถเทียบหรือไปถามคนในอุตสาหกรรมเดียวกันว่ามีหรือยัง ดังนั้นเราต้องไปดูโลกภายนอกว่าเขาทำอะไรกันบ้าง
2. มีแผนธุรกิจ การตลาด การเงิน หาคนมาเสริมทีมเรามาช่วย ซึ่งนวัตกรรมที่ดี ต้องขายได้ด้วย อย่าง NIA มีหลักสูตร What is innovation ที่จัดทุกวันที่ 1 ของเดือน หรือกิจกรรมอื่นๆ เข้าไปกด like ที่เพจ NIA ได้เลย (อย่างล่าสุด workshop design thinking ที่เห็นรูปจากงานแล้วรู้สึกพลาดไปแล้วว เพราะน่าเรียนมาก)

คุณกนตมากล่างแนะนำ NIA อย่างสนุกสนาน
อาจารย์พี่ป๋อมาคอยเก็บภาพบรรยากาศอย่างสมํ่าเสมอ
-----------------------------------------------------------------------------
*พื้นที่โฆษณา* ทาง NIA ฝากมาคะ

ถ่ายป้ายผ้าใบด้านหน้าใกล้วินมอไซค์เลย ขอโทษที่ไม่เห็นหน้าน้องพรีมนะ TT
มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2559 18-28 สิงหาคม ที่อิมแพค เมืองทองธานี ถ้าไปช่วงแรกๆจะได้ไปงานหนังสือ Big Bad Wolf Book นั้นด้วย เรียกว่าคุ้มสองต่อเลยทีเดียว แต่เขียนบล็อกนี้เสร็จคงไม่ทันงานหนังสือแล้วหล่ะ

ภายในงานคุณพี่กนตได้เกริ่นๆไว้ อย่างเครื่องดื่มกาแฟงี้ ใส่นํ้าตาลเยอะมาก หกเจ็ดช้อนเลย ถ้าในมืออาหารมีกาแฟกับโดนัท ตัดกับข้าวอย่างอื่นออก พบว่าสองตัวนี้นํ้าตาลสูงมาก สูงเกินร่างกายที่คนต้องการ ทำให้เป็นโรคเบาหวานได้ ถึงมีนํ้าตาลสังเคราะห์ เช่น แอสตาแปมเอย อีโค่วเอย หวานน้อยลงแต่ยังไม่ดีต่อสุขภาพ จึงใช้หญ้าหวานแทน ซึ่งเป็นสารทนแทนความหวานตามธรรมชาติ ดังนั้นบูธของสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ จะนำเรื่องนี้มาทำให้เด็กๆสนุกมากขึ้น โดยจัดเป็น 4 ฐานภายในบูธ เพื่อเรียนรู้กระบวนการสร้างนวัตกรรม ทั้ง 4 กระบวนการที่จะเขียนต่อๆไปด้านล่างนี้


-----------------------------------------------------------------------------

process ของการทำนวัตกรรม คือ
1. หาปัญหา : โดยให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลนะจ๊ะ โดยจะต้องศึกษาความต้องการของลูกค้า เพื่อจะได้นำไปสร้าง solution เพื่อแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งต่างจากงานวิจัยขึ้นหิ้งที่เน้นความสนใจและความต้องการของตัวเองเป็นหลัก
2. แก้ปัญหา : เรามีกลุ่มลูกค้ารองรับในการแก้ปัญหาให้เขา
3. ทดลอง : ทำ prototype ซึ่ง NIA สามารถให้ทุนได้ เพื่ออะไร เพื่อสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อบริษัทเราอยู่รอด ได้กำไร บริษัทโตขึ้น จ้างคนทำงานเพิ่ม ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ถ้าไม่รอด ก็ปลดพนักงาน เศรษฐกิจก็พัง เดือดร้อนดราม่ากันไป (ถึงขั้นประท้วงไหมอันนี้ไม่มีใครกล่าว)
4. ก่อให้เกิดนวัตกรรม : เสนอขาย ขยายผล ใช้จริง คือทั้งหมดสามารถใช้ได้จริง และสามารถขยายผลได้

จุดประสงค์สำคัญนอกจากจะให้ความรู้นักศึกษาอย่างเราๆแล้ว ยังสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกัน และเรามี connection ที่เข้มแข็งอีกด้วย

จากนั้นคุณเชาวลิต ตัวแทนจากสำนักงานการศึกษาทางไกล มากล่าวต้อนรับและแนะนำการเรียน
ภาระเรียน เอ้ยย เลียน นั่นแหละ ที่เราต้องส่ง หรือทำ เพื่อให้ได้วุฒิบัตรจบหลักสูตร คือ
1. หนังสือแบบฝึกหัด หรือที่ใครหลายคนเรียกว่าการบ้านนี่เอง ตารางตอนนี้คือต้องเริ่มบทที่ 4 แล้ว แต่เรายังบทที่ 3 อยู่เลย ฮ่าๆ
2. proposal อาจจะทำจริงพร้อมยื่นขอทุนที่ NIA ได้เลย หรือเป็นแบบฝึกหัด เราแนะนำ ทำพร้อมยื่นดีกว่าคะ เพราะเวลายื่นจริงจะได้ไม่ต้องมาทำเยอะมาก
3. สอบ ทำให้ผ่าน 60% ขึ้นไป เป็นข้อสอบกานะ ปรนัย ในวันที่ 27 พฤศจิกายน

ในใบสีเขียวมีรายละเอียดเพิ่มเติมตรงนี้อยู่
ถ้าส่งงานครบ ส่งก่อนวันที่ 14 พฤศิจากายน และ สอบผ่าน เอาไปเลยวุฒิบัตรจบหลักสูตร
ถ้าสอบผ่าน แต่ส่งงานยังไม่ครบ มาส่งให้ครบภายใน 9 ธันวาคม

คุณเชาวลิตมาแนะนำการเรียนคะ
ต่อมา มี surprise มีพี่ๆเครือข่ายศิษย์เก่า NIA-DEI Society มาโชว์ตัวคะ หลายท่านคงคุ้นเคยหรือพอผ่านตากันในกรุ๊ปไลน์แล้วบ้างเนอะ

รุ่นพี่ รุ่น 13 พี่เซียร์ พี่สุรพงษ์ พี่ทรงปกรณ์ และพี่สามารถ
จากนั้นมีการชักภาพรวมและเชลฟี่ที่ระลึกร่วมกัน ภาพทั้งหมดจากพี่ป๋อคะ มีคนทักว่ามือพี่เขายาวมาก แบบฉบับที่ถูกต้องของการเซลฟี่ไม่ติดแขนนะคะ



จากนั้น มี surprise อีก คือจัดโต๊ะ เป็นวงกลม รุ่นพี่แนะนำตัวกันคะ นำทีมโดย พี่สามารถ รุ่น 13 จากทุเรียน โซไซตี้คะ


เมื่อเสร็จสิ้นการแนะนำตัวจากเหล่ารุ่นพี่ พี่ป๋อให้แบ่งกลุ่ม 4 กลุ่ม เพื่อทำความรู้จักกัน ว่าพวกเราแต่ละกลุ่มสามารถเชื่อมต่อกันไปด้านไหนบ้าง จากนั้นมีกระดาษและสมุดแจกคะ ในกลุ่มที่เราอยู่มี 10 พร้อมรุ่นพี่ประจำกลุ่ม 1 คน คือพี่ทรงปกรณ์ เราก็ได้แนะนำตัว ทำความรู้จักกัน ส่วนใหญ่ในกลุ่มจะอยู่สายงานด้านการเกษตรกันคะ เราสายไอทีก็ฟังพี่ๆเขาเล่าไปคะ

จากนั้นพี่อุ๋มได้ให้ปากกาแต่ละกลุ่มเพื่อเอามาเขียนหน้ากระดานตามที่จัดให้ และพรีเซนต์แนะนำกลุ่ม แนะนำตัว เพื่อให้รู้จักกันมากขึ้น

บรรยากาศการจับกลุ่ม workshop คะ
ได้เวลาจับโปเกม่อน เอ้ย เขียนแนะนำกลุ่มคะ

และ...เราจำไม่ได้ว่าใช้เวลาเท่าไหร่แหะ ถึงเวลาที่แต่ละกลุ่มแนะนำตัวแล้วคะ ทุกคนมารวมตัวที่หน้าเวทีเพื่อฟังกลุ่มอื่นพรีเซนต์และพรีเซนต์ตัวเองด้วย

กลุ่มแรก กลุ่มโปเกม่อน มาเป็นโปเกม่อนเทรนเนอร์กันเถอะ ผิดหล่ะ ระหว่างที่พรีเซนต์พี่ป๋อจะมีเนื้อหามาแทรกเป็นระยะ กลุ่มหนึ่งมีด้านอาหารและเกษตรแปรรูป สุขภาพและความงาม และพลังงานทางเลือก ซึ่งแต่ละกลุ่มที่แบ่งมาสามารถ support กันได้อย่างดี แต่ละท่านมีกิจการที่น่าสนใจทั้งนั้นเลย โดยเฉพาะหมวดความงาม ที่กลุ่มอื่นไม่มี ของคุณอุ๊เป็นเครื่องนวดหน้ากระแสสลับ และของคุณโบว์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากก้านของบัวหลวง นำเสนอโดยคุณเด่นคะ

แนะนำกลุ่มโปเกม่อน ภาพโดยพี่หนึ่ง ทรงปกรณ์คะ
ถ่ายให้เห็นบรรยากาศคนมุงด้านหน้าคะ
กลุ่มที่สอง กลุ่มสีฟ้า กลุ่มเราเองแหละ แบ่งเป็นสายไอที สายการจัดการ และสายการเกษตร ซึ่งพี่ๆแต่คนละในสายนี้เขาไปกันคนละทางเลย เลยแยกย่อยเป็นสายย่อยอย่างแปรรูป และเกษตร พรีเซนต์ทีละคน นำโดยพี่นุ้ย ทำโปรแกรมห้องสมุด พี่อิฐทำเกี่ยวกับกระบวนการการผลิต พวก process management พี่เอี้ยงทำต้นไม้ออกปลูก ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถนัดเพาะปลูกต้นยูคา และขิง การปลูกแบบนี้เราจะเห็นของกล้วยไม้เนอะ ปลูกในเจล พออาหารหมดก็ไปปลูกต่อตามปกติ ข้อดูคือสามารถโตได้ไวกว่าปกติ พี่ฟ้ากับพี่ดาวเป็นพี่น้องกัน พี่ฟ้ากับพี่วิวเป็นเพื่อนร่วมงาน ทำงานเกี่ยวกับผักผลไม้บรรจุกระป๋อง พี่รินเป็นพี่รหัสพี่ดาว พี่ดาวทำงานควบคุมคุณภาพชา ชาแต่ละฤดูจะมีรสชาติไม่เหมือนกัน ต้องทำให้ชารสชาติเหมือนกันตามมาตรฐานของยี่ห้อนั้นๆ พี่รินทำงานในศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ที่เชียงใหม่จะมีผลิตภัณฑ์เนื้อนมให้อุดหนุนกัน และท่านสุดท้าย พี่เจี๊ยบ ทำ social enterprise เป็นศูนย์กลางระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค

แนะนำกลุ่มสีฟ้า ภาพโดยพี่หนึ่ง ทรงปกรณ์คะ
กลุ่มที่สาม Perfect Group กลุ่มนี้มีคุณหมอนพเป็นคนพรีเซนต์หลัก พูดเก่งมากๆ กลุ่มนี้แบ่งตามความถนัดและความสนใจของแต่ละท่าน มีคุณแน๊ททำเกี่ยวกับวัสดุยานยนต์ให้กับรถยนต์ยุโรปยี่ห้อนึงคะ

แนะนำกลุ่มPerfect group ภาพโดยพี่หนึ่ง ทรงปกรณ์คะ

กลุ่มสุดท้าย Green Product มีพี่เก็ตเป็นคนกล่าวเกริ่นนำก่อน และตามด้วยพี่กุ้งเป็นคนอธิบายส่วนที่เหลือ กลุ่มนี้แบ่งเป็น ต้นนํ้า คือส่วนวัตถุดิบ กลางนํ้า คือ ส่วนแปรรูป และปลายนํ้า คือการนำสินค้าออกขาย พี่กุ้งกล่าวไว้ดีมากๆเลย คนเราไม่สามารถทำงานคนเดียวสำเร็จได้ บางทีการทำงานคนเดียวอาจจะล้ม ต้องช่วยกันถึงจะอยู่รอดต่อไปได้ ประวัติพี่กุ้งก็น่าสนใจไม่แพ้กัน พี่เขาทำงานกับสารเคมีมา 20 ปีจนวันนึงพบว่าเป็นมะเร็ง เลยรักษาจนหาย และสนใจเรื่องข้าวไทย เลยทำข้าวไทยเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง :)

แนะนำกลุ่ม green product ภาพโดยพี่หนึ่ง ทรงปกรณ์คะ


เมื่อพรีเซนต์ครบทุกกลุ่มแล้ว มีศิษย์เก่าอีกท่านนึง คือคุณฝ้าย รุ่น 12 ทำผลิตภัณฑ์จากข้าว กรุ๊ปไลน์ใหญ่มีการพูดเรื่องผลิตภัณฑ์จากข้าว อย่างของพี่เขาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากข้าว เช่น ลิปมัน ได้รางวัลมามากมาย ชื่อแบรนด์ AlriceThailand นะคะ ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ทิชชู่มาร์กจากลูกหว้า ชื่อแบรนด์ วาเบลล่า มาจากลูกหว้า และเบลล่า ที่แปลว่าสวยในภาษาฝรั่งเศสมั้ง (นึกถึงพี่เบลล่า ราณี เลย พี่เขาสวยเนอะ ฮ่าๆ)

และพี่เก็ตก็มาพูดเรื่องช่องทางการขาย product ของเรา ไปถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ด้วย people media ซึ่งพี่เขาได้มีส่วนร่วมกับงานนี้้ดวยคะ

คุณฝ้าย รุ่น 12 แนะนำตัวและผลิตภัณฑ์ที่ทำอยู่
เนื้อหาเสริมจากพี่ป๋อ
- ในใบปลิวมีอีกโครงการนึงคือ R for I มาจาก Research for Innovation จากงานวิจัยมาเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เราสามารถจ้างนักวิจัยมาทำงาน ทาง NIA ออกเงินเดือนให้นักวิจัยเดือนละ 20000 บาท เพื่อทำ prototype ให้สำเร็จและออกสู่ตลาดได้
- เราจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อทำโปรเจกจบ เอ้ยยย  proposal (ก็อารมณ์มันเหมือนกันเลยนี่นา) เมื่อคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาเกี่ยวกับโปรเจกที่จะทำแล้ว สามารถพูดคุยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงได้เลย

เมื่อจบการพรีเซนต์ก็กลับเข้าที่
พี่สามารถพูดเรื่องการจัดกิจกรรมพูดคุยแลกเปลี่ยน อย่างรุ่น 13 มีพูดคุย เปิด session กันในวันอังคาร ห้าโมงเย็นถึงสองทุ่ม ที่ NIA นี่แหละ ปัญหาคือ จำนวนคนที่มาน้อยกว่าคนที่มาจริงๆ เลยอาจจะไม่ค่อย work ดังนั้นพี่ป๋อเสริมว่าทางเครือข่ายเราจะมีกิจกรรม The Night ทุกวันพุธที่ 2 ของเดือน เวลาหกโมงเย็นถึงสองทุ่ม ที่ NIA น่าจะเป็นห้องชั้น 3 ห้องนั้นนั่นแล โดยเวลา 2 ชั่วโมงนี้ จะแบ่งเป็นการแชร์ความคิดกันครึ่งชั่วโมง มีคล้ายๆ TED Talk พูดคนละ 5 นาที และ update status การทำเครือข่าย ก่อนจบการพูดคุย

และมี surprise ก่อนข้าวเที่ยง มีพี่ท่านนึงมีความสามารถในด้านแต่งเพลง ร้องเพลง และเล่นดนตรี ได้แต่งเพลงประจำกลุ่มของเรา พี่เขาชื่อว่าพี่หนึ่ง ทรงปกรณ์ เป็นรุ่นพี่รุ่น 13
ชื่อเพลงว่า ฝันดี มาติดตามฟังกันดีกว่าเนอะ (ส่วนเนื่อเพลงแปะไวใน youtube แล้วคะ พร้อม soundcloud พี่เขาด้วยคะ)




และแล้วได้เวลา ทานข้าวเที่ยง พี่ป๋อบอกว่ามีอาหารญี่ปุ่นจ้า อาหารญี่ปุ่นจริงๆด้วย มาเป็นกล่องเบนโตะแบบ delivery มีสามแบบให้เลือก ทั้งแซลม่อนอะไรสักอย่าง และหมูเกาหลี ของหวานเป็นฟรุ๊ตสลัด กินแกล้มด้วยนํ้าชาเขียว หน่วยราชการเลี้ยงดีอยู่แล้ว (ถ้าเคยตามอ่าน เอ่อออ ถ้าตอนที่อบรมเถ้าแก่น้อย มีเบรกเช้า อาหารเที่ยงแบบตักกับข้าวเอง เบรกบ่าย ตอนไป สวทช ตอนมาเครปเค้ก กลางวันโออิชิ เบรกบ่าย ไหนๆแล้ว มาดูบันทึกที่เราไปดูงาน สวทช เมื่อปีก่อนกันดีกว่า)



ในช่วงบ่าย เหมือนมีเซอรไพร์สเลย มีการอบรม Innovation Journey: Building Innovative Culture “The Innovator’s Method” โดยคุณพันธพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม โดยทำงานที่ NIA มานาน 10 ปี เจอเคสมาหลากหลาย มีเว็บไซต์ด้วยนะ ได้ดูด เอ้ยย อ่านสไลด์กันได้คะ สไลด์ด้านล่างนี้เลย



- การ Test มี 3 แบบ คือ
1. Wow Test สินค้าของเราน่าสนใจแค่ไหน
2. Promoter Test คนสนับสนุนสินค้าเรามากน้อยแค่ไหน ถ้ามากกว่า 80% คนทั่วไปสนับสนุนสินค้าของเรา ซึ่งจะมีสูตรคำนวณ
3. Payment Test ลูกค้ายอมเสียเงินซื้อของเราไหม ยอมจ่ายเงินที่เท่าไหร่ คือตํ่าที่สุดที่เขายอมจ่ายสินค้าเรา ถ้าเป็น old business การคิดราคาขายมาจากต้นทุนทั้งหมดและกำไร

ตัวอย่างนวัตกรรม
- อ่างอาบนํ้าผู้สูงอายุ จาก bathroom design การันตีด้วยรางวัลระดับโลก แต่ขายได้น้อยประมาณถึงหนึ่งถึงสองชิ้น แต่สามารถ funding ได้
- รถกอล์ฟไฟฟ้าเอนกประสงค์ คาริโอ บราโว เป็นบริษัทที่ทำชิ้นส่วนให้นิสสัน เขาคิดว่าถ้าวันนึงไม่มีออร์เดอร์จากนิสสันเข้ามาจะทำยังไง ดังนั้นต้องมี product ของตัวเอง หาจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง จนมาเป็นรถไฟฟ้า ซึ่งสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล
- ถังแก๊สคอมโพสิต เอาไปขายที่ 3 ชายแดนใต้ 50000 ใบ แก้ pain ของลูกค้าที่หนัก เป็นสนิม และระเบิด แก้ไขโดยการทำวิศวกรรมย้อนกลับในการพันไฟเบอร์ด้านใน ทำให้นํ้าหนักเบาขึ้น เรื่องนี้มีตำนาน ทำมานาน 4 ปีเลยทีเดียว พัฒนาร่วมกับ ปตท และ SCG พอทำจวบจะจบ ทาง ปตท ก็ pending ไป ด้วยสาเหตุที่ไม่ทราบแน่ชัด ปัจจุบันทีมที่ทำเรื่องนี้ ลาออกไปหมดแล้วคะ แต่สามารถหาชื่อจากอากู๋ได้นะ (อันนี้สรุปรวบทั้งหมดคะ)
- หุ่นยนต์น้องดินสอ เปิดตลาดที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของ robotic และ automotive ตอนแรกทำหุ่นยนต์ให้ MK ดึงคนเก่งๆที่เคยแข่งหุ่นยนต์ที่ได้รางวัลมาช่วยทำ แต่เงินทุนไม่พอ เลยเข้ามาขอทุนที่ NIA เพื่อทำ prototype

* ถ้าเราทำ prototype แล้วต้องการเงินทุนเพิ่ม สามารถเข้าโครงการเทคโนโลยีเป็นทุน และนวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ย
* สิ่งที่เราจะสร้างนวัตกรรม ควรจะหา solution เพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้า หา pain ของลูกค้า หา value ที่ตอบสนองเขาได้ ตามหา customer journey



(6) มีหนังสือแนะนำสองเล่ม ซึ่งต่อเนื่องกัน คือ
The Innovator's DNA บอกคุณสมบัติของนักสร้างนวัตกรรม ที่อยู่ในตัวเราทุกคน
The Innovator's method ไม่ได้บอกความใหม่ของนวัตกรรม บอกแค่วร้างความพอใจของลูกค้าให้ซื้อของเรา ซึ่งมี 4 วิธี คือ insight data, problem, solution และ business model และเล่มนี้ ตุลาคมนี้จะได้ซื้อหาเล่มแปลไทยแล้ว ลิขสิทธิ์โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์

ต่อมาเนื้อหาหลักๆในวันนี้คะ


ทุกอุตสาหกรรมมีความไม่แน่นอนสูงมาก ทั้งการตลาดและเทคโนโลยี ตรวจสอบกับ demand ซึ่งธุรกิจ software และยาจะเสี่ยงที่สุด รูปนี้เอาไปพิจารณากับธุรกิจของท่านดูว่าอยู่ที่ตรงไหน


1) Innovation as a social process
นวัตกรรมคืออะไร นวัตกรรมคือกระบวนการทางสังคม
ที่เยอรมันเขาจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งเขาสร้างสังคม community ของคนกลุ่มนี้ได้แข็งแรงมากๆ ดังนั้น s-curve เขาจะสวยมาก แต่ในไทยเรานั้น บางทีล้มแต่แรก บางทีล้มตอนไปอันที่สาม


1. สังคมนักคิด สร้างสรรค์ ออกแนว thinker
2. สังคมนักวิจัยและพัฒนา develop prototype ซึ่งมี 4 จะบอกในช่วงหลัง และสามารถทดสอบได้ตลอด อาจจะทดสอบแบบมนุษยวิทยา เช่น อาหารที่เยอรมัน จะสังเกตุการกิน รสชาติ และที่ต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา มี lab ทดสอบผลิตภัณฑ์ test ผลตอบรับ ซึ่งไม่มีในไทย (ส่วนตัวคิดว่าน่าทำนะ เราเองยังอยากเปิด lab UX ของ website กับ application เลย เพราะเรายังไม่เห็นมีที่ไหนเปิดเป็ยจริงเป็นจังในระกับ B2B) 
3. สังคมผู้ผลิตและอุตสาหกรรม executor ทำให้เกิดขึ้นจริง และนำไปขาย
4. สังคมผู้ใช้ ผู้บริโภค


การทำงานโครงการนวัตกรรม ไม่สามารถทำคนเดียวให้สำเร็จได้ ต้องประกอบด้วยคนสามแบบ ดังนี้
- innovators มีไอเดียบรรเจิด
- developers ทำต้นแบบออกมา
- executors ออกขายเชิงพาณิชย์
ซึ่ง discovery จะเป็นหน้าที่ของ innovators และ developers ส่วน delivery เป็นของ executors 


ดังนั้น นวัตกรรม คือ กระบวนการทางสังคม เพื่อสร้าง community ให้เข้มแข็ง และเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม

ผลลัพธ์จากการทำนวัตกรรม 80% ล้มเหลวจากการตลาดและเทคโนโลยี มีปัญหาออก product ออกมาแล้วไม่มีคนใช้ ส่วน 20% มีการขยายผลทางธุรกิจ ได้เงินทุน ได้รับการสนับสนุน

2) New mindset for innovation economy
การตัดสินใจซื้อของสักชิ้นนึง มาจากอะไรนะ... ตอนที่เราจะตัดสินใจซื้อ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนโดพามีนออกมา รอบแรกมีการซื้อแล้ว ต้องเกิดการซื้อซํ้า เราอาจจะ promote การแก้ปัญหาความต้องการของลูกค้า ให้ประทับใจ ซึ่งสำคัญกว่าการสร้างแบรนด์ในช่วงแรก


การเพิ่มผลิตภาพ คือการเพิ่มคุณภาพ ลดเวลา ลดต้นทุน และนวัตกรรม คือหาจุดเด่นพิเศษ แก้ปัญหาของลูกค้า และบุคลากร องค์กรต้องหา value ของตัวเอง


Innovator's Method มี 4 วิธี อย่างที่กล่าวไปตอนต้น ตามในสไลด์เลยแล้วกัน เพราะเขาก็อธิบายตามสไลด์เหมือนกัน ฮ่าๆ ซึ่งเป็นรายละเอียดคร่าวๆ จะลงลึกไปในแต่ละข้อ



1. Insight ค้นหาความประหลาดใจของลูกค้า หา pain point และ vote test ผ่าน 5 ทักษะต้นแบบ
ตัวอย่างคือ เครื่องฝากไปรษณีย์อัตโนมัติ และตู้เย็นขนาดเล็กของบริษัทแห่งหนึ่งในอินเดีย


2. Problem ค้นหาสิ่งที่ต้องทำ จากปัญหาของลูกค้า ศึกษามนุษยวิทยา โดยการโทรถาม หรืออ้างอิงจาก innovation lab

ตัวอย่าง ถ้าคุณต้องการเจาะรูขนาด ¼ นิ้วจะทำอย่างไร? (เราคิดว่า น่าจะทำรูที่เจาะทีเดียวหลุดแบบสวยๆ ไม่ต้องใช้แรงมาก แถมวัสดุไม่แตกร้าวเป็นรอย) ถ้าคุณต้องการรีดเสื้อผ้าหรือไม่? คำตอบอาจจะไม่จำเป็นต้องตอบเตารีด อาจจะเป็นผ้าที่ซักแล้วเรียบเลย ใช้สเปรย์ หรือไม่เครื่องเป่าที่ทำให้ผ้าเรียบ

มีมิติงานที่ต้องทำ คือ ในด้าน social, emotion และ function เพื่อค้นหางานที่สามารถสร้างรายได้ จากความต้องการของลูกค้า

วิธีค้นหางานจากความต้องการของลูกค้า มีหลายวิธี คือ 
การระดมความเจ็บปวด (Pain Storming) สะกดรอยลูกค้า ทำเหมือนเป็นรองเท้าของลูกค้า ไปไหนไปด้วย ขอให้ช่วยสองบาท อันหลังเราใส่เสริมเองไม่เกี่ยวกับพี่วิทยากรแต่อย่างใด เพื่อให้จำได้ง่ายๆ (อาจจะสร้างกลุ่มเป้าหมายขึ้นมาเอง เช่นการทำ persona ตามหลักการของ design thinking และมี touch point เพื่อหาจุดปัญหาที่เกิดขึ้น)
มนุษยวิทยา (Ethnography) สร้างแรงจูงใจ เช่น แอปการเดินวิ่ง อาจจะมีแข่งกับเพื่อน ต้องแก้ให้มากกว่าการสร้างแอปตัวนึงออกมา อย่าวเช่นโปเกม่อนโก ที่ทำให้พี่ที่ออฟฟิคที่ชอบขึ้นมอเตอร์ไซค์มาออฟฟิค หันมาเดินได้ โดยการจับโปเกม่อนและฟักไข่ ทำให้คนออกมาเดินมากขึ้น
การสัมภาษณ์ข้อคิดเห็น (Advice Interview)

ตัวอย่าง ตู้เย็นขนาดเล็กในอินเดีย ที่ขายไม่ได้ พอลงพื้นที่พบว่าแถวนั้นกระแสไฟฟ้าไม่เสถียร ระยะทางจากร้านค้ากลับบ้านก็ไกล งานนี้ทาง marketing และ develop ต้องลงพื้นที่ไปพบลูกค้า ไปเจอปัญหาด้วยกัน เป็นทั้งนักคิด นักทดลอง สามารถแก้ pain ลูกค้าทีละจุด ไปรษณีย์ไทย พิจารณาปัญหาจากระบบ โดยการนำเข้ามีปัญหาเรื่องรอคิว การส่งต่อต้องตรวจสอบว่าครบไหม และการนำจ่ายอันนี้สำคัญ ว่าของถึงมือไหม ถ้าคนรับไม่อยู่จะทำยังไง อาจจะฝากไว้ที่ร้านที่เสมือนเป็นโปเกสต๊อป คือใครก็มาได้ เช่นร้านตัดเสื้อหน้าปากซอย โดยให้ค่าฝากชิ้นละ 5 บาท 10 บาท หรือไม่โทรแจ้งคนรับว่าของจะมาส่ง ให้ส่งที่บ้านหรือพี่มารับเอง เนื่องจากถ้าคนรับไม่อยู่แล้วมาส่งใหม่ เป็นการ rework มีต้นทุนเพิ่มขึ้นมา

3. solution สร้างต้นแบบ สร้างวิธีการเรียนรู้ใหม่ เช่น จักรยานเด็กที่ตัดบางส่วนออก
ต้นแบบ หรือ prototype มี 4 แบบ คือ
- ต้นแบบเชิงทฤษฏี (Theory Prototype, TP)
- ต้นแบบเสมือน (Virtual Prototype, VP)
- ต้นแบบอย่างง่ายที่ทางานได้ (Minimum Viable Prototype, MVP)
- ต้นแบบอย่างง่ายที่ยอดเยี่ยมน่าหลงใหล (Minimum Awesome Prototype, MAP)

การพัฒนาต้นแบบเสมือนที่นิยมสูงสุดคือ
1.PowerPoint สามารถสร้างปุ่มได้อย่างรวดเร็ว
2.การวาดภาพ แสดงมุมมองที่เปปนได้อย่างดี
3.การสร้างม็อคอัพ เพื่อจาลองการรับรู้และสัมผัสได้
4.เครื่องพิมพ์ 3 มิติ
5.วิดีโอการแสดงกระบวนการทางาน
6.ในขั้นทดสอบใช้ว่าจาก ศูนย์วิจัยนวัตกรรม

เช่น google glass ที่มาจาก prototype กระดาษ ทดสอบ wow test กับคนในองค์กร พัฒนาไปเรื่อยๆจนออกวางขาย IBM voice recognition ทดสอบไอเดียว่า ถ้าเราพูดแล้ว แปลงเสียงเป็นตังหนังสือ คนจะเป็นยังไง ซึ่งมีดัมมี่พิมพ์อยู่ด้านหลัง (จริงๆตอนลุงสุขุมน่าทำมากๆเลย จริงๆมันก็ทำได้นี่นา) หรืออย่างบางแอปก็เป็นหน้าจอคร่าวๆ เป็นต้น

ตัวอย่าง ผู้ฝากไปรษณีย์เวอร์ชั่นใหม่ จอทัชสกรีน ช่องใส่ใหญ่กว่าเดิม มีที่เก็บของด้านหลัง แอปให้มอเตอร์ไซค์ส่งของ โดยมีค่าแรงให้พี่วินเขา 20 บาท การส่งมอเตอร์ไชค์บิ๊กไบต์อย่างไม่บุบสลาย ราคาแพงแต่คุณภาพดี การส่งสินค้าผ่านทาง BTS

4. Business Model ที่เราใช้กันเป็น BMC 9 ช่อง แต่ในที่นี้ตัดให้เหลือ 6 ช่อง โดย value proposition อยู่ตรงกลาง

ตัวอย่าง ตู้เย็นขนาดเล็กของอินเดีย ไม่เกินเราคาดคิด ออกมาเป็นกระติกเย็นใส่ของแบบพกพาจริงๆด้วย แต่ของเขาใช้แบตเตอร์รี่ แต่ชาวบ้านยังไม่ซื้อ เพราะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ก็เลยให้พี่ไปรษณีย์ช่วยขายให้จนมีคนซื้อ

3) Innovative culture for entrepreneur
คุณสมบัติของผู้บริหารนวัตกรรม คือ เป็นนักทดลอง ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ศึกษาเชิงลึก และลบข้อกำจัด ทำลายกำแพงทิ้งซะ


ความแตกต่างของ B-School หรือ old business และ I-School คือ
B-School จัดการกับความแน่นอน รู้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายแน่นอน
I-School ทดลองศึกษา อยู่กับความไม่แน่นอน เดินตามลูกค้า ทำตัวเป็นรองเท้าของลูกค้า test prototype เพื่อทดสอบสมมุติฐานที่ตั้งไว้ เป็นวิธีการของ startup ถ้าไม่ใช่ ปรับใหม่ได้ แก้ business model ไปเรื่อยๆ เช่น Uber ที่เมื่อก่อนตัดบัตรเครดิต เดี๋ยวนี้รับเงินสดแล้ว

ก่อนกลับ : มุมมองความคิดนวัตกรรมมุมจีนHacking VS ShanZhaiModel
- iPed กับ iPad ของพี่จีนทำรูปร่างเหมือนกัน แต่ของพี่จีนแกเป็น android หว่า
- สไลด์ต่อมา ฮาเลย น่าจะเดากันไม่ยากว่ามาจากยี่ห้ออะไร ยี่ห้อแพนด้าน่าร๊ากกกก ดูแล้วอยากหาซื้อเลย อันนี้เป็นการแปลงแบรนด์ด้วยเรื่องของการสกรีนยี่ห้อ

เป็นสไลด์ที่ชอบที่สุด เปิดมาฮาเลย น้องแพนด้าน่ารัก เสือพูม่าโดนแปลงซะ
- รองเท้า Li-Ning มาจากไนกี้และอดิดาส ซึ่งตอนแรกก็ copy ข้อดีเขามา ตอนปี 2010 มีการ re-brand คนรุ่นใหม่ที่นั่นใส่กันเยอะขึ้น
- BYD เดิมที่ผลิตแบตเตอรี่ ตอนหลังทำรถไฟฟ้า ด้านหน้า BMW ด้านหลัง Benz และได้ joint venture กับ Benz ในเรื่องสร้างแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า เป็นรถจักรยานนะ

สุดท้ายที่พี่วิทยากรฝากไว้

เลียนรู้เพื่ออยู่รอด แลกเปลี่ยนเพื่ออยู่ต่อ เปรียบเทียบเพื่ออยู่ต่อเนื่อง
(และกลายเป็นเรื่องลอกการบ้านกันไปได้นะ 555)

Q & A ขอยกไปสุดท้าย มีหลากหลายประเด็น จดไม่ทันหรอก อันไหนที่เราสนใจ จดไว้คะ
1. Timeline การทดสอบ prototype 
พี่วิทยากรตอบว่า ทดสอบยิ่งเร็ว ยิ่งดี ทำให้จบภายใน 1-2 เดือน ถ้า time to market ยาว ออกสู่ตลาดช้า คงไม่ดีกับเราเท่าไหร่
2. เรื่องของกลุ่มลูกค้า จะมีแบบฟอร์มในหนังสือเล่มขาวนี่แหละ (อันนี้ยังไม่ได้ดูเล่มจริง ยังงงๆอยู่)
3. มีพี่เสนอเรื่อง Kerry express ว่าระบบเขาดีมาก นำเข้าไว แปปเดียวเสร็จ แล้วไปรษณีย์ไทยมีการแก้ระบบไหม 
พี่วิทยากรตอบว่า นอกจากตัวอย่างที่ยกไปแล้ว มีการปรับปรุงระบบคู่ขนานกันไปด้วย
4. สมมุติเราทำ R&D จนจะออกสู่ตลาด แต่แล้วมีคนทำเหมือนเราออกสู่ตลาดก่อนจะทำยังไง
พี่วิทยากรตอบว่า เราอาจจะต้องคิดไปเกินเขาหลายๆ step วางแผนระยะยาว คือทำยังไงก็ได้ให้เขาตามเราไม่ทัน เราจะได้เปรียบ นอกจากมีสายป่านยาวแล้ว มีเครือข่ายที่แข็งแรงด้วย อย่าง NIA เคย support โครงการนึงที่คล้ายๆที่มีอย่ในตลาด แต่เป็นของต่างประเทศนะ แต่เขาไม่ฟ้อง เนื่องจาก detail ต่างกัน ดังนั้น เราต้องทำเร็ว ออกตัวเร็ว สร้างจุดเด่นให้บริษัท และเราไม่ได้ทำ product เดียวไปตลอด ยังมี product 2 3 4 ออกมา
5. แล้วจะส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมอย่างไร 
พี่วิทยากรตอบว่า เป็นปัญหาของเราๆ ดังนั้นต้องสร้าง community ให้แข็งแรง
6. ถ้าเรามีแอปนึง จะจดการออกแบบหรือ process อย่างไร
พี่วิทยากรตอบว่า จดลิขสิทธิ์ (ซึ่งอันนี้เราควรต้องไปศึกษากันเองเนอะ)


สำหรับวันนี้ มี surprise ตลอดเลย สนุกมาก นึกว่าจะไม่รู้จักใครซะแล้ว (คุณน้องอะตอมก็ไม่ได้มา เผาน้องหน่อย น้องตามอ่านอยู่) นอกจากได้ความรู้ที่อัดแน่นแล้ว ได้เจอพี่ๆอีกสายงานนึง ที่กระบวนการทำงานไม่เหมือนสาย IT อย่างเราเท่าไหร่ เห็นพี่ๆในกลุ่มเขาเล่าแล้วเห็นสีหน้าที่เปล่งไปด้วยความสุขในงานที่ทำ และเห็นความมุ่งมั่งของพี่ๆทุกท่านที่มาในวันนี้ ต่างจากตอนเรียน ป.ตรี มากๆเลย ทุกคนมุ่งมั่งตั้งใจ และมีจุดหมายของตัวเอง ขอบคุณเพื่อนๆที่เรียนร่วมรุ่น พี่ๆศิษย์เก่า พี่วิทยากรจากทาง NIA และที่สำคัญที่สุด ขอบคุณพี่ป๋อกับพี่อุ๋มที่ดูแลเราอย่างดีตลอดวันนะคะ

-----------------------------------------------------------------------------
การบ้านที่อาจารย์พี่ป๋อฝากไว้คะ
0. ร้องเพลงประจำกลุ่มให้ได้ จำเนื้อได้ก็น่าจะดี >> อัพคลิปแล้วน่าจะโอเคนะคะ แหะๆ
1. กด like facebook fanpage NIA >> กดแล้วคะ กดมานานแล้ว ถ้าไม่กดหนูจะทราบกิจกรรมของที่นี่ และได้มาเรียนหลักสูตรนี้ ได้อย่างไร จริงไหมคะ อิอิ
2. สิ่งที่ได้จากกิจกรรมในวันนี้  >> ตามด้านบนนะคะ
3. กิจกรรมที่อยากให้มีหรือจัดขึ้นในอนาคต >> ที่คิดไว้ คือ
- ได้ปรึกษาเรื่องประเด็นรถเมล์ แต่กำลังคิดว่าคุ้มค่ากับการทำลุงสุขุมต่อไหม ถ้าไม่มีใครเอา open data มา support พวกเรา คิดว่าที่นี่น่าจะช่วยได้คะ
- จริงๆอยากจัด hackathon วันนึง มีหัวข้อ เช่นสินค้านวัตกรรมสักหัวข้อนึง แล้วก็แบ่งกลุ่มคิด product business model prototype กระดาษมา และก็พรีเซนต์ จะได้ประสบการณ์จริงด้วย
- กิจกรรมเลียนการบ้าน อิอิ หลังจากบทที่ 1 คือปวดหัวกับการทำการบ้าน เลยใช้วิธีหา keyword ของโจทย์ แล้วเขียนคำตอบ แล้วค่อยอ่านอย่างสบายใจการบ้านเสร็จ อาจจะมีติวเสริมงี้ แบบช่วยๆกันเรียน
-----------------------------------------------------------------------------

คราวหน้าจะบันทึกกิจกรรมอะไร ไปเที่ยวไหนยังไง ติดตามกันต่อไปนะคะ :)
ปล ดีใจที่เขียนเสร็จ ได้นอนแล้ว เย้
Edit : แก้คำ google glass ตามที่คุณพันธพงศ์บอกคะ

ป้ายกำกับ:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก