วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บันทึกการเดินทางไปดูงานที่ สวทช. กับศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยี


บันทึกการเดินทางไปเยี่ยมชมสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี วันพฤหัสที่ 11 มิถุนายน 2558 เวลา 9:40-16:00



ตอนเช้าให้เพื่อนทั้งสองมารับตอนเจ็ดโมงเช้า ป้ายรถเมล์ที่บ้านนี่รถแน่นมาก แน่นจนไม่สามารถชิดซ้ายมาจอดได้ เห็นสีเขียวบนรถผ่านไป เห้ยยยยย พวกนางเลยเราไปแล้ว (ขอบคุณไขลานสีเขียว ที่เห็นได้ชัดเลยว่าถึงแล้ว และเลยแล้ว) เลยโทรไปให้รอเราก่อน อย่าทิ้งเค้า เค้าจะไปเที่ยวววววว พอขึ้นมาบนรถ ต้องมานั่งลุ้นว่าถึงทันแปดโมงครึ่งไหม บนรถทางด่วนติดเหลือทน เลยเปิดไปหาแผนที่ของอากู๋ เห็นได้เลยว่าใช้เวลาชั่วโมงนึงในการถึงที่หมาย ตรงที่จะโล่งคือตรงพระรามสาม ที่แยกไปทางดินแดงและบางนา และกู๋ก็แม่นจริงๆ (แต่วันนี้วันทำงาน กู๋ก็คอยบอกนะ ว่านั่งรถเมล์สายไหนไปทำงาน) ขับมาเรื่อยๆจนถึงแจ้งวัฒนะ และกลับมาติดอีกครั้งตรงที่ยูเทิร์นไปซอฟต์แวร์ปาร์ค ที่หมายของเรา อีกไม่ถึงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น โอ้ยยยยย แต่ยังดียูเทิร์นมาพอกระดึบช้าๆไปถึงซอย 21 ขับเลี้ยวเข้าหาที่จอดที่ตลาดนัดข้างตึก จอดทั้งวัน 40 บาท ดูแลดี

พอถึงจุดนัดพบ มีเพื่อนร่วมโครงการมารอกันแล้ว พี่ๆสตาฟทยอยมา จากนั้นลงชื่อ ยืนเม้าท์กันชั่วครู่ จากนั้นพี่สตาฟคนสวยแบ่งพวกเราไปนั่งรถตู้ของทาง สวทช ได้ไปคันแรกเลย 6 คน เซลฟี่กันสักแปป สักพักออกรถเลย เห้ยยยย รถตู้นั่งกัน 6 คน โคดโล่งเลย งานนี้ใช้รถตู้รวม 3 คัน จาก สวทช เส้นทาง ขึ้นทางด่วนไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ผ่านอิมแพคไปสักพัก ก็จะเป็นวิวธรรมชาติ สองข้างทางมีทุ่งนาสีเขียวขจีเลยหล่ะ (ไม่มีรูปนะ อะเคร๊) นั่งฟังเพลงเบาๆมาเรื่อยๆ จนถึง จุดจ่ายทางด่วน ราคา 45 บาท จ่ายที่ปลายทาง จากนั้นก็เลี้ยวเข้าประตูของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต ที่นี่กว้างขว้างมาก ต้นไม้ก็มาก เห็นรถรางด้วย (จุดๆนี้มือสั่นอยากถ่ายรูปเลยทีเดียว) ไม่ค่อยมีนักศึกษา เนื่องจากปิดเทอม (เสริมสักนิด สาวที่นี่หน้าตาดี อยากเจ๊ออออยากเจอ) ขับมาเราว่าค่อนข้างไกลนะถ้าเดินไปเอง



สักพักก็เข้ารั้วของอุทยานวิทยาศาสตร์ จอดที่หน้าอาคารสำนักงานกลาง พี่ๆที่ สวทช และพี่ที่ศูนย์บ่มเพาะต้อนรับพวกเราเข้าห้องประชุมบอร์ดรูม CO 101 ในเวลาประมาณเก้าโมงยี่สิบ เป็นห้องประชุม มีแผ่นพับของอุทยานวิทยาศาสตร์ และคู่มือเยี่ยมชมห้องปฎิบัติการวิจัย สวทช รวมถึงแจกสติกเกอร์ผู้เยี่ยมชมสีฟ้า เพื่อให้เราแปะไว้ที่เสื้อเป็นสัญลักษณ์ว่าเราเป็นผู้มาดูงานที่นี่ ตามกำหนดการเป็นการรับประทานของว่างพร้อมชมวิดิทัศน์ สวทช โดยคุณศรีทิพย์ อุชชิน ผู้จัดการศูนย์บริการลูกค้า สวทช ฝ่ายการตลาด หรือ พี่อ้อ พี่อ้อได้แนะนำตัวเองว่ามาจากศูนย์บ่มเพาะมาก่อนที่จะมาทำงานตำแหน่งนี้ ที่ สวทช จะเป็นที่วิจัยงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ผูประกอบการภาคเอกชนนำไปต่อยอดเป็น product เพราะ สวทช มีหน้าที่เพียงวิจัยและพัฒนาเท่านั้น ไม่ได้เป็นคนขาย product ไปสู่ตลาด นอกจากนี้ สวทช มีอาคารให้ภาคเอกชนให้้เช่าด้วย และมีที่ดินให้เช่าเพื่อสร้างเป็นศูนย์วิจัย จากนั้นพี่อ้อจะเปิดวิดิทัศน์แนะนำ สวทช พร้อมของว่างหน้าตาดี เป็นเครปเค้กชิ้นโต ซอสสตอเบอร์รี่ โอ้ยยยยยยยยยย กินไปดูวิดีทัศน์ไป อร๊อยยยยอร่อยยย


จากนั้นพี่อ้อก็ได้สรุปภาครวมของ สวทช ก่อนอื่นเลย นอกจากพวกเราที่มาจากโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีแล้ว ยังมีโครงการ NEC มาด้วยนะ


- พัทธกิจหลักเพื่อการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ คือ การส่งเสริมการวิจัย พัฒนาคนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำที่ค้นคว้ามาใช้ประโยชน์ และโครงสร้างพื้นฐานืี่จำเป็นในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


- สวทช จะมี 5 ศูนย์ คือ
1) BIOTEC ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
2) MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุ
3) NECTEC ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กโทรนิกส์และคอมพิวเตอร์
4) NANOTEC ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
5) TMC ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี : เป็นสื่อกลางระหว่างนักวิจัยและบริษัท


- ที่นี่มีบุคลากร 2687 คน ที่นี่จบปริญญาโทและปริญญาเอกเยอะคะ ส่วนใหญ่จะเป็นนักวิจัย


- สวทช จะเป็นสื่อกลางระหว่างนักศึกษา ซึ่งเป็นการค้นหาวิจัย และบริษัทเอกชน ที่ต้องการเทคโนโลยีที่ applied แล้ว


- Support for STI Activity : ที่นี่จะ support เราหลายๆอย่างเลย พี่อ้อบอกว่ารัฐบาลชุดนี้ส่งเสริมเรื่อง R&D เช่น การลดหย่อยภาษี 300% บัญชีนวัตกรรม (อันนี้เราขอเสริมเอง ตอนนี้มีคูปองนวัตกรรมด้วย เหมือนจะให้เงินประมาณนั้น แต่ความชัดเจนยังไม่มากพอ)

> ด้าน financial : มี research grant อันนี้จะให้ภาครัฐและสถานศึกษาเพื่อใช้ในการวิจัย, soft loan คือ เงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า ผ่านธนาคารพาณิชย์ สวทช จะช่วยเรื่องดอกเบี้ย อาจจะเหลือดอกเบี้ยครึ่งนึง ให้ในการใช้สร้างนวัตกรรม, ศูนย์ลงทุน มีภาคเอกชนเข้ามาดูผลงาน มาร่วมลงทุน 25-49%, รับรองงานวิจัยเพื่อลดภาษี บริษัทวิจัยไปขึ้นกับสรรพากร รายจ่ายสูง ทำลดหย่อนได้ 300% (อันนี้ทราบจากพี่จ๋าว่า คนที่มาเช่าตึกที่ innovation cluster จะได้รับสิทธินี้ทันที แต่กำไรจะน้อยลง เสียภาษีน้อยลง เพราะลดหย่อนไปเยอะ)

> โครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี และNEC (โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่) จะอยู่ในศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยี มีเรื่องการจัดการสิทธิเทคโนโลยี เปิดให้สำหรับเอกชนมาจดสิทธิบัตร มีค่าใช้จ่ายด้วย

> ส่วน Technology Intensive มีการใช้เครื่องจักรเข้ามาทำงาน และ R&D Intensive เป็นการค้นคว้าวิจัย ซึ่งเกาหลีใต้มาแรงมาก


- สวทช สร้าง impact ให้กับสังคม โดยการวิจัยและพัฒนาความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคม ในหลายๆด้าน นำเทคโนโลยีฐานมาใช้ จะมีหลายๆโครงการเลย เช่น T-Box กล่องตัดสัญญาณมือถือในการวางระเบิดในสามจังหวัดชายแดนใต้ การรักษารากฟันเทียม เครื่องสแกนปากสามมิติ ข้าวทนนํ้า สมเด็จพระเทพได้พระราชทานชื่อให้ว่า ข้าวหอมชลสิทธิ์ ข้าวทนเค็ม ในภาคอีสาน



- อุทยานวิทยาศาสตร์ มีพื้นที่สำหรับบริษัทใหม่ มีสิทธิพิเศษใหม่ๆ เช่น Garden of Innovation ที่ software park ก็มีที่ให้เช่าออฟฟิคด้วย
- เราสามารถมาร่วมวิจัยและจ้างวิจัยได้ มี ITAP ปรึกษาเรื่องเทคโนโลยี
- มีแลปใหม่ คือ PTEC ศูนย์ทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและเทคโนโลยี เป็นที่ยอมรับของมาตรฐานต่างๆ
- ธุรกิจที่ดี คือ การสร้างองค์ความรู้ที่เพียงพอ
- NIA เกี่ยวกับนวัตกรรม
- บริการของ สวทช มีค่าใช้จ่าย ไม่ฟรี แต่ค่าใช้จ่ายจะน้อย ถ้า SME สนใจสามารถคุยกันได้




และแลัวก็ได้เวลาไปเที่ยว เอ้ยยย ไปดูงานแล้ว เขาจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่ม A และกลุ่ม B สลับกันไปชมผลงาน ซึ่งของเราเป็นกลุ่ม A จะได้ไปชมผลงานที่ นาโนเทค และตามด้วย เอ็มเทค โดยของสามารถวางไว้ที่ห้องประชุมได้ เนื่องจากตอนเที่ยงเราจะมาทานข้าวกลางวันที่นี่ พวกเราทุกคนไปนั่งรถตู้เพื่อไปดูงาน ทางเหมือนจะไม่ไกล แต่ แดดคะ แดดร้อนมากกกกกก ระหว่างทางจะผ่านตึกต่างๆด้วย มาถึงโซน innovation cluster ซึ่งถึงที่แล้ว ในเวลาไม่ถึงห้านาที รถตู้เข้าไปจอดที่หน้าตึก innovation cluster II อันเป็นที่ใกล้นาโนเทค



ตึกให้เช่านี่สวยไฮโซมาก มีโต๊ะเก้าอี้ชุดน้อยๆสีขาวด้วย นั่งชมแดด5555555 ล้อเล่นนะ แต่แดดร้อนเปรี้ยงจริงๆ จากนั้นเราก็เข้าไปที่นาโนเทค พบกับพี่เข้าหน้าที่ที่นาโนเทค นามว่าพี่แขก เป็นผู้นำเสนอผลงานวิจัยเด่นๆของที่นาโนเทค พี่เขาออกตัวเลยว่า อาจจะไม่เกี่ยวกับพวกเราเม่าไหร่นัก เพราะเป็นสาย IT แต่ก็รู้ไว้ใช่ว่าเนอะ ผลงานเด่นๆมีดังนี้


- พวกกันยุงทั้งหลาย เช่น สเปรย์กันยุง ให้ทหารใช้ เนื่องจากพี่ทหารออกลาดตะเวน แล้วพบกับแดดร้อนเปรี้ยง พี่แกเลยพกครีมกันแดดด้วย นอกจาก กย 15 จึงมีครีมกันแดดกันยุง ตัวนี้ออกตัว trial ให้พี่ทหารลองใช้แล้ว นอกจากนี้มีการทดสอบเพื่อให้คนใช้ปลอดภัย และขอรับรองจาก อย ด้วยว่า

ใช้แล้วปลอดภัย ไม่ตายนะ แป้งกันยุง ใช้แป้งข้าวเจ้าแทนเนื่องจากส่วนผสมเดิมมีคนแพ้ เอาไปแจกจ่ายตอนช่วงนํ้าท่วม 54 และมุ้งกันยุง คนไทยเวลานอนจะใช้มุ้งครอบกันยุง แต่กลางวันยุงก็จะไปหลบตามซอกหลีบต่างๆ เช่น ผ้าม่าน เลยคิดค้นมุ้งที่ไล่ยุงได้ โดยการฉีกสารนาโนที่ทำจากสมุนไพร เพื่อยุงมาเกาะแล้วเป็นอัมพาต เพื่อให้ยุงไม่มากัดเรา จริงๆคือนางเป็นอัมพาตตาย เลยมากัดเราไม่ได้ มีเป็นฮู้ดด้วย ชาวสวนยางต้องมากรีดยางตอนเย็นๆถึงเช้ามืดเพราะนํ้ายางจะออกดี เขาจะใส่เสื้อเชิ๊ตยาว กางเกงยาวเพื่อกันยุง ตอนเช้ามืดพี่กรีกยางจะโดนยุงโจมตีหนักมาก ส่วนที่ไม่ได้ปกปิดเลยโดนยุงกัดแดง พอใส่ฮู้ดนี่ จะไล่ยุงออกในรัศมี 1 เมตร ซึ่งพี่เขาสามารถกรีดยางโดยไม่กังวลเรื่องยุง แต่ถ้าโดนนํ้ายางกระเด็นใส่หล่ะ ซึ่งไม่สามารถล้างออกได้ เป็นเหตุการณ์สุดวิสัย ที่นาโนเทคจึงมีเสื้อสำรองให้ด้วย เวลาใช้เสร็จผึ่งลมไว้ ของพวกนี้ไม่ควรซักบ่อย เนื่องจากยิ่งซักสารนาโนที่เคลือบจะน้อยลง

- ผงหอมศรีจันทร์ทานาคา เดิมที่ผงหอมจะเป็นผงหยาบๆ ทาหน้าแล้วจะแตกระแหง จึงทำให้ตัวแป้งมีโมเลกุลเล็กลง เพื่อโอบอุ้มตัวทานาคาได้ดีขึ้น

- โลชั่นบำรุงเส้นผม ไรซ์ นาโน แฮร์ ซีรั่ม เป็นซีรั่มป้องกันผมร่วงจากนํ้ามันรำข้าว เนื่องจากสูตรเดิมทาแล้วเยิ้ม ใช้เยอะ จึงเปลี่ยนเป็นนาโน เพื่อให้ใช้น้อยลงแต่ได้ผล ซึ่งเมื่อเทียบกับสูตรเดิมแล้ว สูตรนาโนได้ผลดีกว่า ผมร่วงหรือขาดช้ากว่า

- นาโนกับสิ่งทอ ผ้า OTOP ทั้งหลาย จะมีการเคลือบสารนาโน เช่น กันนํ้า ปกป้องแบคทีเรีย ป้องกันสีซีดจาง นอกจากจะขายเป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ยังเป็นผ้าตูโต๊ะตามโรงแรม โซฟา


- smart soil เนื่องจากผักตบชวาตามนํ้าเยอะ และโตไวมาก แม้จะนำไปสานตะกร้าแต่ไม่หมด จึงนำไปแปลงร่างเป็นสารปรับปรุงดิน ซึ่งจะเหมือนดินร่วนๆ มีทั้งปุ๋ย และแบบนํ้าด้วย ปุ๋ยเคมีเม็ดก็เป็นนาโนด้วย จะเก็บกักสารอาหารของพืช จะค่อยๆปล่อยออกมาให้พืช


- เครื่องผลิตนํ้าดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้ตอนนํ้าท่วม 54 กรองนํ้าจากคลอง หรือนํ้าจากแหล่งอื่น เป็นนํ้าสะอาด ทานได้ ตัวเครื่องถวายสมเด็จพระเทพไปแล้ว เลยมีเป็นตัวจำลองเลโก้แทน (น่ารักอ่ะ) ตอนนี้นำไปกรองนํ้าจนได้นํ้าดื่มสะอาดที่โรงพยาบาลด้วย


- Q-Log แผ่นตรวจอุณหภูมิ ตัวนี้จะเป็นแผ่นที่ปริ๊นมา เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิของอาหาร เช่น เบเกอรี่ อาหารแช่แข็ง ว่าสดไหม ตัวนี้กำลังพัฒนาให้ปริ๊นแบบอิงค์เจ็ทได้

หลังจากได้สูดอากาศ เอ้ยยย ได้ดูงานที่นาโนเทคแล้ว เรานั่งรถตู้ไม่ถึงสามนาทีไปที่เอ็มเทคต่อ ที่นี่เขาห้ามให้ถ่ายรูปด้วย เขารับรองพวกเราที่ห้องประชุม เจอพี่สาวท่านนึงมาเป็นผู้สาธิตผลงานเด่นของที่นี่ ซึ่งทำให้พวกเราแอบตกใจกับชื่อพี่สาวเล็กน้อย.............พี่เขาชื่อ ญาญ่า อ่ะ พี่ญาญ่านำเสนอได้ดีมากคะ น่าสนใจ เพลิดเพลิน สนุกสนาน ไม่วอกแวก และได้ความรู้ด้วย ที่สำคัญแอบ tie-in สินค้าตลอดด้วยหล่ะ

- แก้วนํ้าใบนี้ ใส่นํ้าร้อนแล้วจะมีลายขึ้นมา ใบนี้ราคา 150 บาท ซื้อได้ที่ร้านหนังสือ (ขายของชิ้นแรกหล่ะ เพิ่งรู้ว่าที่นี่มีของที่ระลึกขายด้วย)

- มีแลป semiconductor ด้วยนะ ที่นี่ค่อนข้าง sensitive กับลมหายใจของคน แป้ง (เครื่องสำอางนั่นแล) ฝุ่น เลยต้องใส่ชุดเฉพาะ

- กระเป๋าใช้สีธรรมชาติ และยังใช้เส้นใยธรรมชาติ ซึ่งมาจากอะไรก็ไม่ได้จดอีก (ฟังพี่ญาญ่าเพลินซะละสายตาไม่ได้อะคะ) คุณสมบัติคือนุ่ม ใส่แล้วไม่ร้อน อุ่นๆ คนญี่ปุ่นชอบ (ยังมีการ tie-in เล็กน้อย)

- ถุงใส่ผักของต่างประเทศจะเป็นแบบขุ่น ไม่เหมือนบ้านเราที่ออกใสๆ เพราะของเขาย่อยสลายได้

- แก้วอเมซอน ตัวนี้ย่อยสลายใน 180 วัน จึงทำออกมาแบบจำกัดจำนวน ไม่ผลิตเยอะๆ ทำจากแป้งมันสำปะหลัง พี่ญาญ่าบอกว่าเวลาหิวๆ กินกาแฟเสร็จกินแก้วได้เลย ในหัวข้อเดียวกัน มีภาชนะใส่อาหารจากแป้งข้าวโพดด้วย

- ถึงควบคุมการหายใจของผัก ทำให้ผักสดกรอบ รักษาคุณภาพได้ยาวนาน 6 เดือน พี่ญาญ่าบอกว่าแกเคยใส่แอปเปิ้ลไว้ในถุงนี้ 6 เดือน ทานแล้วพบว่ารสสัมผัสสดกรอบเหมือนของสด ถึงสีจะเปลี่ยนไปนิดๆตามสภาพ

- ซอสมะเขือเทศ เวลาเราจะใช้ เราต้องเท เขย่า ตีตูด ให้ซอสมันไหออกจากขวด เวลาซอสนอนนิ่งในขวดจะเป็นสถานะของแข็ง พอใช้แรงกระทำมัน หรือแรงทางกล จะกลายเป็นสถานะของเหลว

- อิฐบล็อกใช้ขี้เถ้าถ่านซึ่งนางมีคาร์บอนสูง มาทำ มีนํ้าหนักเบากว่า ลอยนํ้าได้ ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากการทำโรงไฟฟ้าถ่านหินได้อย่างคุ้มค่าทีเดียว

- วัสดุมัดสายไฟ (อันนี้พูดไม่ถูกเท่าไหร่แหะ) ที่ไปอยู่ที่เสาไฟฟ้าแรงสูง เป็นพลาสติก เนื่องจากใช้เซรามิกมันแตกง่าย ทำยาก พลาสติกจะทนกว่า นํ้าหนักนางก็มากอยู่แต่ทน

สุดท้ายมีการถ่ายรูปหมู่กัน พี่ญาญ่าบอกว่าให้ถ่ายรูปดีๆสวยๆ เพราะจะไปประจานในเว็บ เอ้ย ไปแปะไว้ในเว็บเขาคะ (ไม่ได้แต่งเติมคำพูดนะ ณเดช เอ้ยย ณ จุดนี้) จากนั้นนั่งรถกลับไปตึกหลัก เพื่อทานข้าวกัน


มาถึง โอ้วววววว อาหารกล่องโออิชิ ที่นี่เลี้ยงหนูดีจังเลย อาหารดี๊ดี มีความสุข เปิดกล่องออกมาเป็นไก่เทอริยากิ มีสลัดปูอัด กิมจิ ยำสาหร่ายญี่ปุ่น ข้าวญี่ปุ่น รอบข้างได้สเต๊กหมู มีไข่หวานด้วย แง รับประทานกันอย่างเพลิดเพลิน ตอนแรกคอดว่าไม่หมด ไปๆมาๆหมดเกลี้ยงเลย ขอบคุณคะสำหรับอาหาร เอ้อออ มีเปิดข่าวช่องสามเฮชดีด้วยหล่ะ แต่พี่อ้อเปลี่ยนเป็นรายการ สวทช ที่ฉายทางช่อง MCOT HD แทน

จากนั้นช่วงบ่ายโมง พี่โอ๊คบอกว่ามีร้านหนังสือกับร้านกาแฟอยู่ไม่ไกลนี้ มาเดินชมกันได้ เข้ามาก่อนบ่ายโมงครึ่ง อิชั้นรออะไรอยู่ พยายามลากเพื่อนไปแรดสิคะ แหมมม ออกมานี่แดดเปรี้ยงมากกกกก หลงไปโรงอาหารของเขาด้วย จากนั้นวกกลับไปร้านหนังสือ เข้าไปเจอตัวต่อเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กๆด้วย ราคาสูงเลยทีเดียว ที่นี่มีหนังสือหลายแบบ ที่สำคัญมีของสำนักพิมพ์ไทยญี่ปุ่นด้วย หาวางขายได้ยากยิ่ง (แต่ก็ไม่ได้ซื้ออ่ะนะ) มีของสำนักพิมพ์ สวทช ด้วย จำได้ว่าเคยอุดหนุนที่งานหนังสือด้วย มีผงหอมศรีจันทร์ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ชา วางขายด้วย รวมถึงของที่ระลึกอื่นๆ เช่น แก้วที่พี่ญาญ่าพรีเซนต์ ที่วางแก้ว พวกกุญแจ สมุด ตอนออกมาเจอพี่จ๋าพรีเซนต์แอปปิเคชั่นนึง เอามือถือเปิดกล้องส่องไปที่รูปไดโนเสาร์ จะออกมาเป็นสามมิติในกล้องมือถือด้วยหล่ะ


เมื่อได้เวลาอันควร ก็เข้าสู่เวลาบรรยายผลงานของเนคเทค ซึ่งพี่วิทยากรมาช้านิดนึงเนื่องจากหัวหน้าเรียกแปปนึงคะ การบรรยายในหัวข้อ ภาพรวมการวิจัย หน่วยวิจัยสารสนเทศ ของเนคเทค โดย ดร.ชัย คะ



- เนคเทคมีโครงสร้างหลักๆ 4 ทีม คือ image, speech, text และโปรเจกพิเศษ ซึ่งพี่วิทยากรทำงานในส่วนนั้น

- จริงๆแล้วพี่วิทยากรเคยเข้าโครงการเถ้าแก่น้อยด้วย เพราะเขาต้องการให้มีทักษะ เพื่อนำผลงานวิจัยออกสู่เชิงธุรกิจ จะเห็นได้ว่า สมาชิกร่วมโครงการเถ้าแก่น้อยจะมีนักวิจัยเนคเทคเข้ามาด้วย และยังบอกอีกด้วยว่านักวิจัยขายงานไม่ได้ ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมาก เงินเดือนก็ได้เหมือนเดิม อาจจะถูกลดเงินทุนวิจัยถ้าผลงานไม่เข้าตา หรือ performance ไม่ดี แต่กับธุรกิจขายของไม่ได้เท่ากับเราไม่มีเงินกินข้าว



- TRL 1-5 เป็นการวิจัยอยู่ในแลป 6-7 นักวิจัยเอางานไปขาย ออกสู่ธุรกิจ 8-9 ทำ sub system ได้ และต้อง launch operate คือซื้อแล้วใช้

- ผลงานที่อยู่ใน TRL 8-9

> LEXiTRON dictionary : เป็น dict online ลงทุนสูงมาก เป็นโครงการพื้นฐาน เป็น open source ทำเป็นแอปปิเคชั่นบนมือถือ ที่สำคัญ free ด้วย



> VAJA : มี application บน android ให้เล่นด้วย ใช้ทำ automate call center ใช้อ่านข่าว ทำ business model ไม่ work เพราะสื่อใช้ sponsor กับ brother (เอาของมาแลกกับเขียนข่าวให้) ตัวนี้สามารถทำรายได้ได้พอสมควร



> S-SENSE : เป็น web-api วิเคราะห์โดย language processing ความถูกต้อง 90% แยกเป็นคำถามคำถาม คำติ คำชม ตัวโฆษณาบางทีไม่ใช่คำชม แยกยากนิดนึง

** มีคนถามวิทยากรเรื่องการนำไปใช้ในตลาดแม่และเด็ก ตัวที่เคยใช้ไม่สามารถวิเคราะห์เชิงลึกได้ดี อันนี้อาจจะต้องคุยกันหลังไมค์ คนที่ซื้อ license ไป มี marketing analysis samsung, in-house callcenter, บริษัทแห่งหนึ่งที่เวียดนาม



> CephSmile : วิเคราะห์รูปกราม ใช้ในการจัดฟัน ใช้ image processing กับ 3D

- ผลงานที่อยู่ใน TRL 7-8 เป็น demo หรือ preproduct software ต้องการการบ่มเพาะอีก 1 ปี ก่อนจะออกเป็น product



> อ่านไท : Thai OCR convert เอกสารเป็น text ตอนนี้พัฒนาร่วมกับเอกชน ทำถอดข้อความกับประชาชน และ e-passport



> CopyCat : ตรวจสอบการลอกเอกสาร ใช้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มานาน 4 ปีแล้ว ตรวจ thesis ตัวนี้จะขายเป็น web service ใช้ตรวจหาแหล่งที่มาของข่าว ข้อเสีย มันดูเทาๆ ใช้ยาก และใช้น้อย ข้อดีคือหาข้อมูลของข่าวได้ ต้องใช้ document replacement system ด้วยจึงต้องทำร่วมกับภาคเอกชน


> ParTy : ตัวอย่างเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกัน คือ ใน google ลงทุนไปถึง 4 ล้านบาท ความถูกต้อง 80% ความเร็วของ output คือความเร็ว 1.5 เท่าของเสียง input ต้องทำ application ยืม api มาใช้ การใช้งาน คือ ถอดเสียงจากการประชุมรัฐสภา ความถูกต้อง 83% การถอดความในชั้นศาล เพราะมีการบันทึกเสียงที่ดี และเสียงคมชัด ใช้ใน call center ตรวจดูว่าพนักงานว่าลูกค้าไหม บริษัทสารคดีพาโนรามาก็สนใจ เนื่องจากจะต้องถอดความสารคดี 20,000 เทปเลยทีเดียว

- ผลงานที่อยู่ใน TRL 6-7
> DEM : เป็นออนโทโลยี การค้นหาคำโดยสนความหมาย
> image analysis วิเคราะห์รถติด นัดล้อรถ นับของ



- valley of death : เราจะสนใจตรง technology transfer คือมีการทำ R&D แล้ว TRL ตํ่า จะพบความลำบาก ที่ออกขายได้ คือ TRL 8-9 เช่น



> TVIS : แอปปิเคชั่นการจราจรสำหรับคนขับรถ มีค่าดูแลระบบหรือ maintenance สูงมาก



> digital archive : ทำเอกสารกระดาษ ให้เป็นไฟล์เอกสาร ทำทั้งระบบ รอภาคเอกชนมาสานต่อ

- ภาคธุรกิจต้องมีการทำ R&D และมีศักยภาพมากกว่าคนอื่น เช่น ทีมที่ไปแข่งต่างประเทศ มีจุดแข็งที่เข้าใจตัวผลิตภัณฑ์มาก เข้าใจถึงการทำงานของมัน

**ข้อมูลในการติดต่อวิทยากรหลังไมค์**
- phone : 086-777-0014
- email : chai@nectec.or.th
- line id : chai0867770014


กิจกรรมสุดท้าย คือ การเยี่ยมชม Garden of Innovation ซึ่งเห็นจากในเฟซก่อนแล้วว่าคืออะไร ข้างนอกแดดเปรี้ยงมาก เลยเข้ามาในห้องแอร์น้อยๆของที่นี่ สำหรับการเข้ามาใช้สถานที่ พี่โอ๊คบอกไว้ดังนี้

- ที่ Garden of Innovation มี 12 ห้อง ห้องละ 19.7 ตร.ม. (กฎคือ พื้นที่สำหรับส่วนนี้ห้ามเกิน 20 ตร.ม. คะ) ราคาเต็มค่าเช่าอยู่ที่ 7,000-8,000 บาท และมีค่าบริการด้วย
- ปีแรกจะลด 75% จากราคาเต็ม ค่าเช่าประมาณพันกว่าบาท และค่าบริการประมาณสองสามพัน ปีสองลด 50% ปีสามลด 25% ส่วนปีสี่ ต้องขยับขยายย้ายไปที่อื่น ซึ่งจะเป็นตึก innovation cluste คะ
- เปิดบริการ 7x24 คือเปิดทุกวันทั้งวัน 24 ชั่วโมงคะ
- หลักสูตรของโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีจะดูหนักน้อยกว่า NEC ซึ่งแผนธุรกิจองเถ้าแก่น้อย คือ business model ส่วนของ NEC จะยุ่งยากกว่า มีการทบทวนแผนธุรกิจหลังไปทำจริงด้วย



ได้เวลาเดินชม Garden of Innovation แล้ว เป็นห้องวางเรียงกันเป็นกรอบสี่เหลี่ยม ตรงกลางเป็นต้นไม้ ซึ่งพี่เขาบอกมั้งว่าอากาศร้อน ต้นไม้ตายหมด (แดดเปรี้ยงในช่วงกลางวันคะ) มีห้องนํ้า และห้องอาบนํ้าด้วย จากนั้นรับประทานของว่าง และถ่ายรูปหมู่ก่อนกลับ

กิจกรรมในวันนี้หมดแล้ว ได้เวลากลับนนทบุรี (ก่อนจะกลับกรุงเทพและสมุทรสาครไปตามภูมิลำเนาปัจจุบันของสมาชิก) นั่งรถตู้กัน ในรถมี 4 คน นั่งเม้าท์มอยกัน ระหว่างทางพบว่า ธรรมศาสตร์รังสิตของกินนอกมหาวิทยาลัยเยอะ และหอพักก็เยอะ เห็นที่นึงชั้นล่างเป็น mall ของกินเพียบ ข้างบนเป็นหอพัก คือมันเริ่ดอ่ะ business model นี้ เม้าท์มอยไปเรื่อยๆจนถึงที่หมาย software park ในเวลาสี่โมงเย็นเป๊ะๆเลย ก่อนที่จะแยกย้ายกันไป

สรุป
- พี่ๆเลี้ยงเราดีมาก ทั้งเครปเค้ก อาหารกล่องโออิชิ จาก สวทช และอาหารว่างบ่ายของศูนย์บ่มเพาะ
- ได้มาถึง สวทช ได้คสามรู้ต่างๆ ทั้งเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกลับบ้านไป
- พบกับพี่ๆ NEC ที่ก็ไม่ได้ไปรู้จักเขาหรอกนะ
- ได้ไปเยือน นาโนเทค กับ เอ็มเทค แต่ เนคเทค ของหนูหล่ะ มีคราวหน้าที่ได้ไป เนคเทค ใช่ไหมคะ
- ได้เจอแดดเปรี้ยงๆของรังสิต ที่พลานุภาพดูเหมือนจะแรงกว่าศาลายา
- ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบเบาๆ
- ได้เที่ยวต่างจังหวัด เอ้ย ได้ไปดูงานถึงต่างจังหวัดเลย

สุดท้าย ขอบพระคุณทุกภาคส่วนที่ให้เกิดโครงการและกิจกรรมดีๆแบบนี้คะ

ป้ายกำกับ:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก